การเลี้ยงปลาร่วมกับการปลูกข้าวเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้เขียน: ดร.ปราณีต งามเสน่ห์ และ ดร.สำเนาว์ เสวกูล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์

Image by Tanakornsar from Shutterstock.

การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงการจับและการเพาะเลี้ยงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในน้ำ จัดว่าเป็นภาคส่วนที่มีการขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว และมักจะก่อปัญหาและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเกิดขึ้นตามมา อาทิ การจับสัตว์น้ำเกินกำลังผลิตของธรรมชาติ ความเสื่อมโทรมของแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และมลภาวะที่เกิดจากปัจจัยผลิตที่เกี่ยวข้องด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเน้นให้เห็นประเด็นปัญหาบางประการของการจับสัตว์น้ำและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบดั้งเดิม

ความจำเป็นที่ต้องมีแนวทางในการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบยั่งยืนมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งมาจากสภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นสิ่งผลักดันให้เกิดการหาแนวทางใหม่หรือปรับทางเลือกอื่น ๆ (FAO; WorldFish 2020; Arunrat 2022; Liu 2022; Inayat 2023) เพิ่มจากวิถีปฏิบัติในสมัยโบราณที่มีการเลี้ยงปลาในนาข้าวมาก่อน การผสมผสานการเลี้ยงปลาร่วมกับการปลูกข้าวจึงไม่เพียงแต่เพิ่มผลผลิตเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ และช่วยให้การเอื้อประโยชน์กันระหว่างกิจกรรมการปลูกข้าวและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคือปลาเป็นไปอย่างสมดุล

ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

วิธีการเกษตรและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบดั้งเดิม มักก่อให้เกิดผลกระทบที่มีความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมาก การใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีมากเกินไปในการปลูกข้าว และการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงปลา มลภาวะทางน้ำ การถดถอยของความหลากหลายทางชีวภาพ และจำนวนปลาชนิดเดียวที่เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นข้อกังวลอย่างยิ่งจากมุมมองทางสังคม วิธีการดังกล่าวจึงอาจลดทอนความมั่นคงทางอาหาร และลดโอกาสในการดำรงชีวิตของชุมชนในชนบทลง ส่งผลให้เกิดความยากจน และอยู่บนแนวทางหรือวิธีการที่ไม่ยั่งยืน

แนวทางแก้ไขที่เสนอ: การเลี้ยงปลาและปลูกข้าวร่วมกันในแปลงนา

แนวทางที่เป็นข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหานี้คือ การเลี้ยงปลาและปลูกข้าวร่วมกันในนาข้าว ซึ่งได้มีการปฏิบัติของเกษตรกรบางส่วนในหลายประเทศในทวีปเอเชียมานานหลายศตวรรษ ระบบการทำฟาร์มแบบพึ่งพาอาศัยกันนี้จะทำการปลูกข้าวและการเลี้ยงปลาไปพร้อมๆ กันภายในพื้นที่เดียวกัน ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันทั้งข้าวและปลา โดยปลาจะช่วยในการควบคุมศัตรูพืชและโรคในนาข้าว ลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูข้าว และมีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างปุ๋ยตามธรรมชาติผ่านให้แก่ข้าวจากของเสียที่ขับถ่ายจากปลา ในขณะเดียวกันต้นข้าวก็ให้ที่พักพิงแก่ปลา ให้ออกซิเจนในน้ำ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของปลา

ประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจของการเลี้ยงปลาร่วมกับการปลูกข้าว

วิถีการเกษตรผสมผสานนี้ประสบความสำเร็จ และสามารถเพิ่มรายได้เป็นอย่างมาก และทำให้ครอบครัวเกษตรกรในชนบทมีรายได้ที่มั่นคงและพึ่งพาได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารผ่านการกระจายแหล่งอาหารที่ประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงได้ วิธีการนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและวิถีปฏิบัติทางการเกษตรแบบดั้งเดิม เป็นการส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมและเสริมสร้างความยืดหยุ่นของชุมชน

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

การผสมผสานการเลี้ยงปลามาไว้ในแปลงเดียวกับนาข้าวเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและยั่งยืน แทนวิธีการเกษตรแบบดั้งเดิม เนื่องจากเป็นการจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความตอบสนองต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมในโอกาสเดียวกัน

ข้อดีบางประการของแนวทางบูรณาการนี้ได้แก่: (1) ลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง จึงเป็นการลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและอันตรายต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น (2) เพิ่มผลผลิตทั้งข้าวและปลา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ที่ดิน (3) การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ซึ่งเอื้อต่อความยั่งยืนของการเกษตร และ (4) การยกระดับรายได้และความมั่นคงทางอาหารสำหรับผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต

การที่จะนำเทคนิคการเลี้ยงปลาร่วมกับการปลูกข้าวมาใช้ให้ได้ผลนั้น สิ่งจำเป็นต้องมีคือ: (1) จัดให้มีการศึกษาอบรม ให้ความรู้ และทรัพยากรแก่เกษตรกร (2) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาระบบเกษตรผสมผสาน และ (3) เพิ่มการเข้าถึงตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มาจากแหล่งเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

โดยสรุป: รูปแบบของการเลี้ยงร่วมกันระหว่างปลาและปลูกข้าว ถือเป็นวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ต่อความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมากมายที่เคยเกิดขึ้นจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบดั้งเดิม จึงเป็นช่องทางที่ยั่งยืนสำหรับการผลิตอาหารและโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับชุมชนเกษตรกรรม