การแปรรูปเศษเหลือทิ้งจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

ผู้เขียน: ดร.ดวงพร อมรเลิศพิศาล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสำหรับบัณฑิตผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

Image by Boommaval from Shutterstock.

ทรัพยากรน้ำหลายชนิดถูกนำมาบริโภคเป็นอาหาร เช่น ปลา กุ้ง หอย ปู และสาหร่าย อย่างไรก็ตามมีเพียง 30-40% เท่านั้นที่นำมาประกอบเป็นอาหาร ยังมีส่วนเหลือใช้หรือเศษเหลือทิ้งอีก 60-70% ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ได้แก่ ก้อนไขมันปลา กระดูกปลา เกล็ดปลา หนังปลา เปลือกกุ้ง เปลือกหอย และสาหร่ายที่ขึ้นตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นต้น และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการจัดการที่ดีจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะแหล่งน้ำธรรมชาติ ดังนั้นการใช้นวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าเศษเหลือทิ้งจากผลผลิตทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีปริมาณมากจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และมีคุณค่าทั้งต่อจิตใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

การเปลี่ยนมุมมอง

จากกระแสรักสุขภาพและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของโลก จุดแข็งด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยคือการท่องเที่ยว การเกษตร และการบริการ ดังนั้นการนำทั้งสามด้านมารวมกันเป็นการผลิตสินค้าสุขภาพและบริการด้านการเกษตรเชิงท่องเที่ยวในรูปแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและการบริการ กลยุทธ์นี้ช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ประเทศไทยมีทรัพยากรทางการเกษตรที่เป็นเอกลักษณ์และโดดเด่น โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าในการจัดการของเสียทางการประมง โดยการนำเศษเหลือทิ้งจากการแปรรูปอุตสาหกรรมอาหารประมงและสาหร่ายจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าโดยไม่มีเศษเหลือทิ้ง ด้วยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมมูลค่าสูง เช่น สารประกอบเชิงหน้าที่ (functional ingredients) อาหารสุขภาพ (functional foods) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (nutraceutical product) และผลิตภัณฑ์เวชสำอาง (cosmeceutical product) ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของไทยได้ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

ทำความเข้าใจกับการตลาด

ในปี ค.ศ. 2024 ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสุขภาพ และ functional ingredients มีอัตราการเติบโต 6.8% โดยในประเทศไทยกระแสรักสุขภาพและความงามยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง functional ingredient ที่เป็นที่ต้องการในการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง ได้หลายรูปแบบ ดังนั้นแนวคิดในการนำเศษเหลือจากกระบวนการแปรรูปสัตว์น้ำและสาหร่ายมาสกัดเป็น functional ingredient จึงเป็นที่ต้องการของตลาด สร้างโอกาสในการทำการตลาดอย่างยั่งยืน และดึงดูดลูกค้าได้ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการแสดงผลการทดสอบฤทธิ์ชีวภาพที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และปริมาณที่เหมาะสมในการนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสุขภาพและเวชสำอาง รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค นอกจากนี้กลยุทธ์ทางการตลาดที่ดีเป็นสิ่งสำคัญในการส่งมอบคุณค่าของผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

การแปรรูปเศษเหลือทิ้งทางการประมง: กรณีศึกษา

ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาสารชีวภาพจากทรัพยากรประมงหลายชนิด เช่น สารสกัดสาหร่ายน้ำจืด สาหร่ายทะเล น้ำมันปลา น้ำมันจระเข้ คอลลาเจน และโปรตีนสกัด พบว่ามีสารชีวภาพที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ หรือ functional ingredient ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเวชสำอาง โดยมีผลการวิจัยทั้งในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมนุษย์ การทดลองทางคลินิกในมนุษย์ พร้อมกับขยายระดับการผลิตสารชีวภาพดังกล่าวให้เพียงพอกับการผลิตในระดับอุตสาหกรรม แล้วทดลองตลาดโดยมีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย พกพาสะดวก และมีรสชาติดี ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากน้ำมันจระเข้ ครีมคอลลาเจนลดริ้วรอยจากปลาน้ำจืด และแผ่นมาสก์หน้าจากสาหร่ายสไปโรไจรา

นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลการวิจัยผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือและช่องทางโซเซียลมีเดีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางการตลาด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและสะดวกในการสื่อสารกันได้ตลอดเวลา ซึ่งช่วยในการตัดสินใจซื้อและการกลับมาซื้อซ้ำ

การเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนา

ผลจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่มีการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการสกัดเศษเหลือทิ้งทางการประมง การทดสอบประสิทธิภาพ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ตลาดต้องการ ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจในการแข่งขันทางการตลาดของผลิตภัณฑ์กลุ่ม functional ingredients สนับสนุนให้เกิดการสร้างและพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprises, IDEs) ภายในประเทศ

สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy: BCG) และมีเป้าหมายสู่ความยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ เป้าหมายเหล่านี้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจชีวภาพซึ่งลดของเสียและเพิ่มประสิทธิภาพทรัพยากรให้สูงสุดด้วยเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ดังนั้นการนำทรัพยากรประมงมาใช้อย่างคุ้มค่าตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG จะส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้กับชุมชนและผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน